บ้านบุณยัษฐิติจากประวัติศาสตร์บอกเล่า

บ้านบุณยัษฐิติ สันนิษฐานว่ามีอายุกว่า ๑๕๐ ปี  สร้างโดยหลวงอนุรักษ์พานิช (กั๊ก หรือ บุญมาก บุณยัษฐิติ) บุตรนายบุญคงและนางอยู่ (สกุลเดิม “สินธุนาวา”) โดยอ้างอิงจากพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี 2419 ที่กล่าวถึงครอบครัวของหลวงอนุรักษ์พานิช และบ้านหลังนี้ไว้ ดังนี้

  • “เราออกจากที่นั่นมาถึงพลับพลาบางกะจะ ๓ โมงครึ่ง…………… อนึ่งจีนกั๊ก1 เอาพลอยมาให้ เราให้เงิน ๓ ตำลึง แล้วลงเรือกลับตีกรรเชียงมาเวลา ๕ โมง”
  • “พระไพพายายหงวน2แม่จีนกี๋3 จีนกิด4 จีนเกีย5 มาหาเรา เอาผ้าพื้นกับพลอยต่าง ๆ มาให้ แต่ที่เป็นสำคัญนั้นบุศย์น้ำทองยอดหนึ่งของจีนกี๋3ให้ เกือบเท่ากับพลอยในตรานพรัตน์ น้ำก็งามดีเราเห็นว่าพลอยจันทบุรีจะเป็นอย่างดีอยู่เพียงนี้ ได้ให้เงินเขาชั่ง ๑ เป็นรางวัล กับให้ยายหงวน2อีก ๕ ตำลึง แต่ลูกอีกสองคนนั้นเราจะให้เสื้อ ต่อเมื่อไปเมืองพรุ่งนี้”
  • “เมื่อมาเกือบจะถึงปลายถนน เราจึงพบตึกยายหงวน2 ตึกของแกหมดจดดี มีของขายก็มาก เราไปต่ออีกจนที่สุดถนนที่มีโรงค้าขายสองข้างทางประมาณ ๑๒ เส้น แล้วกลับมาพบพระยาจันทบุรีตามเราไป แต่เมื่อเราไปถึงหน้าท่าพระพิพิธเป็นผู้รับรอง ด้วยบ้านเขาอยู่ที่นั่น เมื่อเราไปนั้นตามตึกโรง ๒ ข้างทาง เขาตั้งโต๊ะบูชาหลายสิบโต๊ะ บางแห่งก็มีน้ำร้อนน้ำเย็นหมากพลูเลี้ยงคนที่ตามเราไปด้วย แล้วเราก็มานั่งอยู่ที่ตพานน้ำ ได้ให้เงินแก่แสงมารดาภรรยาพระพิพิธ ๒ ตำลึง กับให้เสื้อจีนกี้3 จีนกิด4 จีนเกีย5 คนละตัว”
  • ประกอบกับในปี 2419 ที่รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสจันทบุรี หลวงเสนาราชภักดีศรีสงคราม (เกี้ย) บุตรชายคนที่ 3 ของหลวงอนุรักษ์พานิช ซึ่งเป็นผู้ครอบครองบ้านหลังนี้ต่อจากบิดา มีอายุ 26 ปี จึงทำให้เชื่อได้ว่าบ้านบุณยัษฐิติแห่งนี้สร้างโดยหลวงอนุรักษ์พานิชผู้เป็นบิดา

ข้อสันนิษฐาน

1 จีนกั๊ก หมายถึง หลวงอนุรักษ์พานิช (กั๊ก หรือ บุญมาก บุณยัษฐิติ)

2 หงวน หมายถึง หลวน (สกุลเดิม “สุนทรเวช”) ภริยาหลวงอนุรักษ์พานิช

3 จีนกี๋หรือจีนกี้ หมายถึง หลวงบุรุษประชาภิรมย์ (กี้ บุณยัษฐิติ) บุตรคนที่ 2 ของหลวงอนุรักษ์พานิช

4 จีนกิด หมายถึง ขุนสุคนธนอารมย์ (กิจ บุณยัษฐิติ) บุตรคนที่ 4 ของหลวงอนุรักษ์พานิช

5 จีนเกีย หมายถึง หลวงเสนาราชภักดีศรีสงคราม (เกี้ย บุณยัษฐิติ) บุตรคนที่ 3 ของหลวงอนุรักษ์พานิช

หมายเหตุ

ในสมัยก่อนใช้การสัญจรทางน้ำเป็นหลัก ทำให้หน้าบ้านติดแม่น้ำ และหลังบ้านติดถนน

 

 

 

จากบุณคง สู่บุณยัษฐิติ

            สกุล “บุณยัษฐิติ” ได้รับพระราชทานโดย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 196 กรกฎาคม พ.ศ. 2459 ในช่วงระยะเวลา ตั้งแต่กรุงรัตนโกสินทร์เป็นต้นมา

 

ฟื้นชีวิตบ้านจีนอันทรงคุณค่า (ปี พ.ศ. ๒๕๕๙ ถึง ปี พ.ศ. ๒๕๖๓)

ด้วยคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และศิลปะ-สถาปัตยกรรมของบ้านบุณยัษฐิติ อาคารทรงจีนที่ผสานด้วยศิลปะ-สถาปัตยกรรมทั้งไทยและฝรั่งเอกลักษณ์หนึ่งเดียวของชุมชนริมน้ำจันทบูร ตั้งตระหง่านมาคู่กับชุมชนริมน้ำมาว่า ๑๕๐ ปี ด้วยอายุอาคารที่ยาวนานโครงสร้างอาคารและองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมจึงมีสภาพทรุดโทรมตามกาลเวลา เมื่อสำรวจและวิเคราะห์ทางวิศวกรรมและสถาปัตยกรรมแล้ว พบว่า

(๑) องค์ประกอบหลักของอาคารในส่วนของผนังอิฐรับน้ำหนักและโครงหลังคายังคงอยู่ในสภาพดีและอยู่ในสภาพดั้งเดิม มีความทรุดเอียงของอาคารส่วนที่ติดริมน้ำ

(๒) วัสดุขององค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมมีการเสื่อมสภาพตามกาลเวลา เช่น บานประตูไม้ ฝาไม้ ลายฉลุไม้ โครงสร้างรับพื้นไม้ เป็นต้น

(๓) องค์ประกอบอาคารบางส่วนสูญหายและถูกปรับเปลี่ยนไปจากวัสดุดั้งเดิม เช่น วัสดุมุงหลังคา วัสดุปูพื้นชั้นหนึ่ง แผงไม้แกะสลัก เป็นต้น

 

เมื่อลูกหลานตระกูล “บุณยัษฐิติ” ทายาทผู้สืบทอดมรดกในรุ่นปัจจุบัน มีเจตนารมณ์ที่จะฟื้นคืนบ้านจีนอันทรงคุณค่าหลังนี้ที่อยู่คู่ชุมชนริมน้ำจันทบูรมากกว่า 150 ปี ให้กลับมาสง่างามดังเช่นอดีต จึงมีหลักการสำคัญในการบูรณะดังต่อไปนี้

  • รักษาสัดส่วนอาคาร และองค์ประกอบที่เป็นของเดิมแท้ ( authenticity) ไว้ทั้งหมด
  • องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่เสื่อมสภาพตามกาลเวลา หรือสูญหาย ใช้การเก็บรวบรวมหลักฐานที่ปรากฏอยู่และค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติม บูรณะให้กลับคืนสู่สภาพทางสถาปัตยกรรมทีเคยเป็นมาในอดีต เช่น บานประตูไม้ ฝาไม้ ลายฉลุไม้ โครงสร้างรับพื้นไม้ เป็นต้น
  • ฟื้นภูมิปัญญาเชิงช่างโบราณ โดยในขั้นตอนการก่อสร้างทำการศึกษาร่วมกับช่างฝีมือในด้านต่าง ๆ เช่น งานหลังคา งานปูนปั้น งานไม้ เป็นต้น เพื่อให้เกิดการสืบสานและต่อยอดงานช่างโบราณ หวังให้เกิดความยั่งยืนในการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมไปสู่ชนรุ่นหลังต่อไป
  • ส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้วยการใช้วัสดุคุณภาพดีที่หาได้ในท้องถิ่นมาเป็นองค์ประกอบในการบูรณะครั้งนี้ เช่น กระเบื้องหลังคา เป็นต้น
  • ผสานเทคนิคทางวิศวกรรมสมัยใหม่มาใช้ในการเสริมโครงสร้างหลักของอาคาร โดยเคารพของเก่า เพื่อให้อาคารมีความมั่นคงแข็งแรงในระยะยาว
  • ปรับเปลี่ยนประโยชน์ใช้สอย (Adaptive Re-use) ของอาคารอย่างสมสมัย ช่วยส่งเสริมคุณค่าทางประวัติศาสตร์และไม่ทำลายคุณค่าของรูปแบบสถาปัตยกรรมเดิม ทำหน้าที่เป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิตส่งต่อคุณค่าทางประวัตศาสตร์ไปยังชาวชุมชนริมน้ำจันทบูและคนรุ่นหลังอย่างยั่งยืน