การบูรณะโครงสร้าง

ลักษณะโครงสร้างเดิมของบ้านโครงสร้างหลักของบ้านมีลักษณะเป็นกำแพงรับน้ำหนัก (Wall bearing)
ใช้ผนังบ้านซึ่งก่อด้วยอิฐบนเสาเข็มไม้เป็นตัวรับน้ำหนักพื้นและหลังคา โครงสร้างรับพื้นไม้ชั้น ๒ และ ชั้น ๓ เป็นโครงสร้างตรงและคานไม้ที่มีขนาดใหญ่รับพื้น

สภาพก่อนบูรณะจากการสำรวจค่าระดับของอาคาร พบว่าอาคารทรุดเอียงไปทางด้านริมน้ำ โดยภายในบ้านมีระดับต่างจากระดับถนน ๐.๒๐-๐.๗๐ เมตร มีรอยร้าวของกำแพงกันดินบริเวณริมน้ำมีลักษณะถึงการเคลื่อนตัว (Slide) ของดิน และบริเวณกำแพงเหนือวงกบประตูหลายจุดมีรอยร้าว สภาพผนังอิฐบางจุดมีลักษณะเปื่อยยุ่ยอันเนื่องมาจากวัสดุเสื่อมสภาพ

การบูรณะฐานรากและเสริมโครงสร้างหลัก

ทำฐานรากสมัยใหม่โดยลงเสาเข็มเพื่อรับน้ำหนักพื้นชั้น ๒, ชั้น ๓ และโครงหลังคาทั้งหมดเพื่อปลดภาระน้ำหนักที่ผนังบ้านโบราณต้องรับไว้

  • เสาเข็ม เริ่มใช้เข็มเจาะ แต่พบอุปสรรค์น้ำเข้ามาในหลุมเข็มเนื่องจากพื้นที่โครงการอยู่ริมแม่น้ำ ทำให้ไม่สามารถหล่อเสาเข็มได้ จึงต้องเปลี่ยนเทคนิคเป็นการใช้เข็มเหล็ก โดยลงเสาเข็มเหล็กเป็นกลุ่มเพื่อรองรับฐานรากแผ่คอนกรีตเสริมเหล็กซึ่งเททั่วพื้นอาคารอนุรักษ์
  • ตั้งเสาเหล็กตัว T บนฐานรากที่ก่อสร้างใหม่ กรีดผนังและเสาปูนเดิมเพื่อฝังเสาเหล็กเพื่อดามผนังโบราณให้เกิดความแข็งแรงและมั่นคง และเพื่อเป็นเสารับน้ำหนักพื้นชั้น ๒, ชั้น ๓ และโครงหลังคาเพื่อปลดภาระน้ำหนักที่ผนังบ้านโบราณต้องรับไว้

ผนังฉาบปูนหมัก ขัดปูนตำ

ลักษณะและคุณสมบัติของผนังฉาบปูนหมัก และการขัดปูนตำ

            ด้วยกำแพงอิฐรับน้ำหนักที่ทำหน้าที่เป็นโครงสร้างหลักของอาคาร เมื่อผ่านระยะเวลามายาวนาน การสะสมของความชื้นภายในผนัง ก่อให้เกิดการเสื่อมสภาพของอิฐก่อ ถือว่าเป็นอันตรายต่อโครงสร้างหลักของอาคาร จากการศึกษาวิจัยของกรมศิลปากรพบว่าการใช้ปูนฉาบสมัยใหม่ (ปอร์ตแลนด์ซีเมนต์) ซึ่งมีความละเอียดคุณสมบัติในการยึดเกาะสูง มีความเค็ม เมื่อฉาบบนกำแพงอิฐโบราณจะทำให้ความชื้นในผนังไม่สามารถระบายออกได้เกิดความชื้นสะสมในผนังส่งผลให้อิฐเปื่อยยุ่ยเสื่อมสภาพ เกิดคราบเกลือบริเวณผนัง

ปูนหมัก ใช้กับงานก่อและงานฉาบผนัง มีกรรมวิธีทำจากการเผาหินปูนด้วยความร้อนสูงหินปูนจะแตกเป็นเม็ดสีขาวเรียกว่า ปูนดิบ จากนั้นนำปูนดิบมาหมักด้วยการแช่น้ำ น้ำและปูนร้อนจัดจนอุณหภูมิถึงจุดเดือด แช่จนกว่าปฏิกิริยาจะหยุด ตามเวลาที่ช่างรุ่นเก่าระบุไว้ คือ อย่างน้อย ๒ สัปดาห์ จนถึง ๒ เดือน ด้วยกระบวนการหมักจึงทำให้ปูนจืด ไม่ทำปฏิกิริยากับผนังอิฐทำให้เกิดคราบเกลือบนผนัง มีคุณลักษณะที่มีความพรุน ทำให้ผนังหายใจได้ลดการสะสมความชื้นภายในผนัง (ภาพประกอบ)

ปูนตำ ใช้กับงานฉาบบางเพื่อตกแต่งผิวผนัง กรรมวิธีการทำปูนตำ คือ
การนำปูนหมักที่หมักจนเหนียวได้ที่ตำในครกไม้ ตีผสมกับเยื่อกระดาษและกาวหนังสัตว์ ซึ่งแต่ละสายของช่างจะมีสูตรเฉพาะตัวที่ต่างกันออกไป จนได้ปูนตำเนื้อเนียนละเอียด (ภาพประกอบ)

เทคนิคการซ่อมแซมผิวผนังด้วยการฉาบปูนหมัก และการขัดปูนตำ

ด้วยสภาพวัสดุฉาบผนังเดิมของบ้านที่หลุดร่อนและเปื่อยยุ่ย จำเป็นต้องมีการสกัดวัสดุเดิมออกและฉาบใหม่ ในการฉาบผนัง ช่างจะนำปูนหมักผสมทราย แบ่งเป็น ๒ อัตราส่วน คือการฉาบรอบแรก(ชั้นใน) ใช้ส่วนผสมของปูนหมัก ๒ ส่วน ต่อ ทราย ๕ ส่วน ทิ้งไว้พอหมาดจึงเริ่มฉาบผนังชั้นนอกทับด้วยใช้ส่วนผสม ปูนหมัก ๑ ส่วน ต่อ ทราย ๓ ส่วน (ภาพประกอบ)

เมื่อผนังปูนหมักที่ฉาบไว้หมาดได้ที่ ซึ่งส่วนนี้ต้องอาศัยประสบการณ์ของช่างประกอบด้วยจึงทำการขัดด้วยปูนตำ ความหน้าประมา ๒ ถึง ๓ มิลลิเมตร(ภาพประกอบ)

การซ่อมบัวปูนปั้น

บ้านบุณยัษฐิติ ปรากฏบัวปูนปั้นที่มีลักษณะลวดลายที่เรียบง่ายแต่มีความประณีต อยู่ตามบริเวณกรอบประตู หน้าต่าง และปูนปั้นสันหลังคา โดยสภาพเดิมก่อนการบูรณะสภาพปูนปั้นดังกล่าวเสียหายเหตุมาจากปูนฉาบเสื่อมสภาพเป็นจำนวนมาก โดยในงานบูรณะบัวปูนปั้นของบ้านบุณยัษฐิติ จึงมีขั้นตอนการทำงาน ดังนี้

  • ทำการรังวัดรูปแบบบัวปูนปั้นเดิมที่ยังมีความสมบูรณ์อย่างละเอียดทุกจุด พร้อมถ่ายภาพทำทะเบียนประกอบ
  • แกะลายบัวปูนปั้นส่วนที่สมบูรณ์ที่สุด ด้วยการหล่อเรซินในมาตราส่วน ๑:๑ เพื่อเป็นต้นแบบให้ช่างทำงานต่อไป

การบูรณะงานไม้

สภาพก่อนการบูรณะ

บ้านบุณยัษฐิติ มีองค์ประกอบศิลปะ-สถาปัตยกรรม ที่ใช้ไม้ในการก่อสร้างอย่างงดงามหลายในจุด ด้วยผ่านการใช้งานมาอย่างยาวนานทำให้องค์ประกอบไม้หลายจุดชำรุดผุพัง

เทคนิคการบูรณะ

ในการบูรณะงานไม้นั้นได้ให้ความสำคัญกับการรักษาความแท้ (authenticity) ร่องรอยของผิวไม้ที่ผ่านกาลเวลานับเป็นความงามที่ทรงคุณค่า ดังนั้น ในขั้นตอนการบูรณะงานไม้ของบ้านบุณยัษฐิติ จึงมีการ

  • เก็บองค์ประกอบไม้เก่า อันประกอบด้วย โครงหลังคา พื้น บานประตู บานหน้าต่าง ฝาเรือนไว้ทั้งหมด
  • คัดเลือกองค์ประกอบไม้ที่ยังสมบูรณ์ถอดเก็บ แล้วนำกลับมาประกอบติดตั้งใหม่ด้วยลักษณะเดิม
  • แต่งผิวเฉพาะจุดที่ชำรุดด้วยขี้เลื่อยผสมกาว พอหมาดขัดแต่งผิว จากนั้นเคลือบผิวด้วยน้ำยารักษาเนื้อไม้ เน้นให้เห็นผิวไม้ดั้งเดิม
  • องค์ประกอบไม้ที่ชำรุด ช่างทำการแกะแบบจากของเดิมกลับมาทำใหม่ด้วยไม้เก่า

การบูรณะหลังคาแบบจีน

รูปแบบลักษณะการมุงหลังคากระเบื้องจีนบ้านบุณยัษฐิติ

ก่อนทำการซ่อมแซม บ้านหลังนี้ได้ถูกซ่อมแซมและดัดแปลงมาหลายครั้ง  ในส่วนของกระเบื้องหลังคานั้นได้มีการเปลี่ยนวัสดุมุงทำให้มีผลต่อโครงสร้างหลังคาและรูปแบบอาคารที่เปลี่ยนไป โดยสภาพก่อนการบูรณะอาคารถูกมุงด้วยหลังคากระเบื้องลอนคู่และสังกะสี

จากหลักฐานชั้นต้นที่พบ คือเศษกระเบื้องหลังคาบนสันหลังคาที่ตกค้างและเหลือมาจากการซ่อมแซมในอดีต และเศษกระเบื้องหลังคาตรงบริเวณผนังก่ออิฐส่วนอาคารจีน ทำให้ทราบเบื้องต้นว่ากระเบื้องที่ใช้มุงหลังคาคือ กระเบื้องดินเผา แบบชนิดที่มีความโค้งมนน้อย

จากหลักฐานชั้นต้นที่พบในพื้นที่และการวิเคราะห์รูปแบบทางสถาปัตยกรรมบ้านบุณยัษฐิติ ประกอบกับบริบทของพื้นที่ภาคกลางใกล้เคียงที่น่าจะมีความเชื่อมโยงกัน คือ กลุ่มอาคารตึกแถวจีนบริเวณย่านสำเพ็ง ตลาดน้อย และกลุ่มบ้านจีนโบราณ ซึ่งเป็นกลุ่มอาคารที่ร่วมยุคสมัยเดียวกัน คือ ประมาณช่วงปลายรัชกาลที่ 4 ถึงตันรัชกาลที่ 5

ประกอบกับการค้นพบที่สำคัญคือ การค้นพบภาพถ่ายเก่าเมืองจันทบุรี จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ทำให้ทราบถึงสัณฐานของบ้านบุณยัษฐิติและรูปแบบการมุงหลังคาที่ชัดเจนมากขึ้น โดยภาพถ่ายที่ค้นพบมีอยู่ 2 กลุ่มด้วยกันคือ กลุ่มภาพถ่ายจากแฟ้มภาพผู้ตรวจการมณฑลจันทบุรี ปีพ.ศ.2491 และกลุ่มภาพถ่ายทางอากาศของ Peter William-Hunt ปี พ.ศ.2489

นำไปสู่การสันนิษฐานในเบื้องต้นเพื่อการออกแบบ พบว่าการมุงหลังคาของบ้านบุณยัษฐิติมุงด้วยกระเบื้องดินเผา แบบชนิดที่มีความโค้งมนน้อย แบบที่ southern overlapping and alternating concave and convex วางกระเบื้องหงาย-คว่ำ ครอบซ้อนกันเป็นแนวไป (พบในภาคใต้)

การบูรณะหลังคาเรือนริมน้ำ

สภาพเดิมก่อนการบูรณะหลังคาส่วนนี้ มีลักษณะเป็นหลังคาทรงจั่วโดยมีฝาไม้ตีปิดด้านสกัดของหลังคาจั่วเมื่อได้ศึกษาข้อมูลทางประวัติศาสตร์ พบภาพถ่ายจากอัลบัมสมุดภาพตรวจราชการ เรื่องตรวจงานจันทบุรี (๔-๑๒ เมษายน พ.ศ.๒๔๙๑) จากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ  ลักษณะหลังคาเดิมเรือนริมน้ำของบ้านบุณยัษฐิติ มีลักษณะเป็นหลังคาทรงปั้นหยา มีชายคายื่นยาวคลุมระเบียงริมน้ำชั้น ๒

ดังนั้น ในการบูรณะบ้านบุณยัษฐิติ ปี พ.ศ. ๒๕๕๙ – ๒๕๖๓ จึงบูรณะหลังคาให้กลับมามีสภาพเดิมตามหลักฐานปรากฏ

การบูรณะลวดลายองค์ประกอบอาคาร

องค์ประกอบตกแต่งที่ปรากฏหลักฐานภายในบ้านได้ทำการเก็บต้นแบบที่สมบูรณ์ไว้ เพื่อนำมาเป็นต้นแบบในการทำขึ้นมาใหม่ในวัสดุและรูปแบบเดิม ประกอบด้วย

  1. ลูกกรงเหล็กหล่อแบบฝรั่ง

ฝีมือในการออกแบบลวดลายของช่างโบราณมีความประณีตงดงาม ในการบูรณะลูกกรงเหล็กหล่อแบบฝรั่ง  ด้วยการขัดสนิมออก ทาน้ำยาเคลือบป้องกันสนิม ยืดอายุในการใช้งาน ส่วนชิ้นที่ชำรุดเสียหาย นำเหล็กหล่อเดิมมาทำแม่พิมพ์ และหล่อขึ้นใหม่เพื่อมาทดแทนของเดิม

  1. หินฐานเสา

ระหว่างการขุดดินเพื่อเตรียมการบูรณะฐานรากของอาคารส่วนจีน  พบองค์ประกอบหินลักษณะครกเจาะรูที่ก้น จึงทำการศึกษาเปรียบเทียบองค์ประกอบเดิม พบว่ามีลักษณะเหมือนหินฐานเสาไม้ ภูมิปัญญาของช่างจีนโบราณ ไม่ให้เสาไม้วางอยู่บนพื้นโดยตรง ซึ่งจะทำให้เสาไม้ไม่ชื้นเป็นการยืดอายุการใช้งานของเสาไม้แบบโบราณ  โดยหินฐานเสาของเดิมที่ถูกพบจะถูกนำไปจัดนิทรรศการภายในโครงการ  ส่วนที่นำมาใช้เป็นฐานเสาจริงในปัจจุบัน ให้ช่างหินอ่างศิลาแกะแบบจากของเดิม ทำขึ้นใหม่จากหินแกรนิต เพื่อรองรับฐานเสาไม้ใหม่ในปัจจุบัน

  1. เชิงชายคาสังกะสีฉลุ

พบว่าสังกะสีที่ใช้ฉลุลายนั้นมีความหนากว่าปัจจุบันมาก